32 อันดับดวงดาว: ที่สุดแห่งความยิ่งใหญ่ในจักรวาล
ต่อไปนี้เราจะมาทำการไล่เรียงลำดับจากดวงดาวที่มีขนาดเล็ก ไปสู่ดวงดาวที่มีขนาดใหญ่ ใน 32 อันดับ ของที่สุดแห่งความยิ่งใหญ่ในเอกภพ
หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า 1 ซีรีส โดยมันเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ที่สุด และเป็นดาวเคราะห์แคระดวงเดียวภายในระบบสุริยะชั้นใน ซึ่งมันถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยดาราศาสตร์ชาวอิตาลีที่ชื่อ จูเซปเป ปีอาซซี (Giuseppe Piazzi) เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1801 โดยดาวเคราะห์แคระดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 950 กิโลเมตรโดยประมาณ
อันดับที่ 31: ดวงจันทร์ (Moon)
ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็คือดวงจันทร์ หรือดาวดาวบริวารของโลกเราเอง มันถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อน หรือไม่นานหลังจากที่โลกถือกำเนิด โดยคำอธิบายที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางของการกำเนิดดวงจันทร์ก็คือ มันก่อกำเนิดมาจากเศษซากที่เหลือของการปะทะกันอย่างรุนแรงในอวกาศ ระหว่างโลกกับดาวเคราะห์ปริศนาขนาดประมาณดาวอังคาร (เราเรียกมันว่า ดาวเธียอา (Theia)) จนทำให้สสารบางส่วนจากการปะทะในครั้งนั้นได้ก่อรูปทรงกลม จนกลายมาเป็นดวงจันทร์ดังที่เห็นในปัจจุบัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 3,500 กิโลเมตร
ดาวคัลลิสโต คือดาวบริวาณของดาวพฤหัสบดี ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดย กาลิเลโอ กาลิเลอี เมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1610 ซึ่งดาวดวงนี้ประกอบไปด้วยหิน และน้ำแข็ง เสียเป็นส่วนใหญ่ นี่จึงทำให้คัลลิสโต มีมวลเพียงหนึ่งในสามของดาวพุธเท่านั้น แม้ว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของมันจะใกล้เคียงกับดาวพุธถึง 99% ก็ตาม โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของมันก็คือ 4,800 กิโลเมตร
อันดับที่ 29: ดาวพุธ (Mercury)
ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะอีกด้วย โดยมันใช้เวลาเพียง 87.969 วัน สำหรับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ แต่ในขณะที่การหมุนรอบตัวเองมันกลับใช้เวลานานถึง 58.6461 วัน ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของคาบการหมุนรอบตัวเอง และคาบการเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์แล้ว จะพบว่า ระยะเวลาจากในช่วงกลางวันถึง ช่วงเวลากลางคืนบนดาวพุธนั้น กินเวลายาวนานถึง 176 วันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากที่สุดของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เส้นผ่านศูนย์กลางของมันก็คือ 4,900 กิโลเมตร
อันดับที่ 28: ดาวอังคาร (Mars)
ดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่สี่จากดวงอาทิตย์ และเป็นดาวเคราะห์ดวงเล็กที่สุด อันดับที่สองในระบบสุริยะรองจากดาวพุธ และเนื่องจากพื้นผิวของดาวประกอบไปด้วยเหล็กออกไซด์เป็นส่วนมาก นี่จึงทำให้เรามักขนานนามให้กับมันว่า ดาวแดง นั่นเอง อีกทั้งข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า ดาวอังคารเมื่อราว 4,500 ล้านปีก่อน ไม่ได้มีชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มอยู่เบาบางเหมือนในทุกวันนี้ แต่มีชั้นบรรยากาศที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่ปกคลุมอยู่หนาแน่น และที่สำคัญคือมูลจากทางธรณีวิทยายังพบอีกว่า ในสมัยนั้นเอง ดาวอังคารก็เคยถูกปกคลุมไปด้วยน้ำ เช่นเดียวกับโลก ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกลมสุริยะพัดออกสู่ห้วงอวกาศไปจนเกือบหมด โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของมันคือประมาณ 6,800 กิโลเมตร
อันดับที่ 27: ดาวศุกร์ (Venus)
ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 ดาวศุกร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางเป็นใหญ่ 3 เท่าของดวงจันทร์ และ มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธและดาวอังคาร 2 เท่าตัว อีกทั้งมันยังเป็นดาวเคราะห์หิน ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด ขณะที่ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ จะประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่มากถึง 97% นี้จึงทำให้อุณหภูมิของดาวศุกร์สูงมากถึง 400 องศาเซลเซียส ในตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณคือ 12,000 กิโลเมตร
อันดับที่ 26: ดาวเคราะห์โลก (Earth)
โลก เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่สามจากดวงอาทิตย์ และเป็นดาวเคราะห์เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ทราบได้อย่างแน่นอนว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ โดยจากหลักฐานทางธรณีวิทยาบางส่วนชี้ว่า ส่วนประกอบของชีวิตอาจถือกำเนิดขึ้นมาเร็วสุดเมื่อ 4.1 พันล้านปีก่อน หรือประมาณ 400 ล้านปีหลังจากที่โลกได้ถือกำเนิด ซึ่งปัจจุบันสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากดาวเคราะห์ดวงนี้มักจะเรียกตัวเองว่า ‘มนุษย์’ และมีอยู่เป็นจำนวนมากถึง 7,000 ล้านชีวิต อีกทั้งโลกยังเป็นดาวเคราะห์ที่มีความหนาแน่นสูงสุดในระบบสุริยะอีกด้วย โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางดาวประมาณ 13,000 กิโลเมตร
เป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ได้รับการยืนยันการค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี ค.ศ. 2011 ว่าคือดาวเคราะห์ที่อยู่ใน ‘เขตอยู่อาศัยได้’ (habitable zone) รวมทั้งมันยังมีคาบวงโคจรรอบดาวฤกษ์ ในลักษณะคล้ายกันกับโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อีกด้วย ซึ่งเคปเลอร์-22บี นั้นมีระยะทางห่างจากโลกของเราประมาณ 600 ปีแสง และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 30,000 กิโลเมตร
อันดับที่ 24: ดาวเนปจูน (Neptune)
ดาวเนปจูน เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับสุดท้ายมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจากดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และมีมวลเป็นลำดับที่ 3 รองจากดาวพฤหัสและดาวเสาร์ โดยการที่ดาวเนปจูนมีสีน้ำเงินนั้น ก็เป็นผลอันเนื่องมาจากชั้นบรรยากาศของผิวดาวชั้นนอกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย ไฮโดรเจน ฮีเลียม และมีเทน และถึงแม้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวจะหนาวเย็นและติดลบถึง -220 องศาเซลเซียส เนื่องจากอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก แต่แกนกลางภายในดาวเนปจูนนั้น กลับมีอุณหภูมิมากถึง 7,000 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งร้อนกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์เสียอีก โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวเนปจูนอยู่ที่ประมาณ 50,000 กิโลเมตร
อันดับที่ 23: ดาวยูเรนัส (Uranus)
ดาวยูเรนัส หรือ ดาวมฤตยู เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 และจัดเป็นดาวเคราะห์แก๊ส มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในระบบสุริยะ โดยองค์ประกอบของยูเรนัสจะคล้ายกับดาวเนปจูนมาก นี้จึงทำให้มันมีสีฟ้าคล้ายกัน และนักดาราศาสตร์ยังพบอีกว่า ดาวยูเรนัสนั้นแผ่ความร้อนออกจากตัวดาวน้อยมาก นั่นก็อาจจะเป็นเพราะภายในดาวไม่มีการยุบตัวแล้ว หรืออาจมีอะไรบางอย่างได้ไปปิดกั้นการยุบตัวเอาไว้ ซึ่งเราก็ยังไม่ทราบได้อย่างแน่ชัดว่าทำไม โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวยูเรนัสจะอยู่ที่ประมาณ 51,000 กิโลเมตร
อันดับที่ 22: ดาวเสาร์ (Saturn)
ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์ดวงลำดับที่ 6 นับถัดจากดวงอาทิตย์ โดยมีรัศมีเฉลี่ยมากกว่าโลกประมาณเก้าเท่า และมีมวลมากกว่าโลกถึง 95 เท่า อย่างไรก็ตามมันก็มีความหนาแน่นเพียง 1 ใน 8 ของโลกเท่านั้น นี้ก็หมายความว่า หากเรามีมหาสมุทรขนาดใหญ่ในระดับจักรวาลอยู่ แล้วจับดาวเสาร์โยนลงไป ดาวเสาร์ก็จะสามารถลอยน้ำได้นั่นเอง ในขณะที่วงแหวนของดาวเสาร์ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยเศษหินและน้ำแข็งขนาดเล็ก ที่เรียงตัวอยู่ในระนาบเดียวกัน ซึ่งอันที่จริงแล้ว แม้แถบวงแหวนเหล่านี้จะมีขนาดความกว้างอยู่มากถึง 80,000 กิโลเมตร จนสามารถมองเห็นได้จากโลกก็ตาม แต่มันกลับมีความหนาเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 500 กิโลเมตรเท่านั้น หรือในอัตราส่วนราว 160 ต่อ 1 ซึ่งมันบางมากๆ โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวเสาร์จะอยู่ที่ประมาณ 120,000 กิโลเมตร
อันดับที่ 21: ดาวพฤหัสบดี (Jupiter)
ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 และมีขนาดใหญ่สุดในระบบสุริยะ (ไม่นับดวงอาทิตย์) โดยมีน้ำหนักมากกว่าโลกถึง 318 เท่า และมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่าโลก 11 เท่า หรือคิดเป็นปริมาตร 1,300 เท่าของโลก อีกทั้งมันยังมีมวลมากกว่ามวลของดาวเคราะห์ทุกๆดวงในระบบสุริยะรวมกันราว 2.5 เท่า และจากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์ก็คาดว่า หากดาวพฤหัสบดีมีมวลมากกว่านี้สัก 80 เท่า มันก็อาจมีความดันในใจกลางมากพอ ที่จะสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นจนกลายเป็นดาวฤกษ์ดวงเล็กๆได้ โดยดาวพฤหัสบดีมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 140,000 กิโลเมตร
ดาวพร็อกซิมา เซนทอรี หรือ อัลฟา เซนทอรี C คือดาวแคระแดงในกลุ่มของระบบดาวฤกษ์คู่ (binary star) ที่ชื่อ อัลฟา เซนทอรี เอบี (Alpha Centauri AB) โดยมันอยู่ห่างจากระบบสุริยะของเราเพียง 4.2 ปีแสงเท่านั้น ค้นพบครั้งแรกโดยโรเบิร์ต อินเนส ผู้อำนวยการหอดูดาวยูเนียนในแอฟริกาใต้เมื่อปี ค.ศ 1915 อีกทั้งมันยังได้ขึ้นชื่อว่า เป็นดาวฤกษ์ดวงที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเรามากที่สุด (เท่าที่รู้จักกันในปัจจุบัน) และการที่ดาวพร็อกซิมา เซนทอรี มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ หรือที่ประมาณ 2,700 องศาเซลเซียส (3,042 เคลวิน) และมีมวลน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของดวงอาทิตย์นี่เอง จึงทำให้พร็อกซิมา เซนทอรี นั้น จะสามารถใช้พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นได้ช้ากว่าดวงอาทิตย์ของเรา หรือก็คือมันจะมีอายุยืนยาวกว่าดวงอาทิตย์ของเรานั่นเอง เส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณของมันคือ 200,000 กิโลเมตร
อันดับที่ 19: ดวงอาทิตย์ (Sun)
ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ ณ ใจกลางระบบสุริยะ เป็นพลาสมาร้อนทรงเกือบกลมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งพลังงานสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4 ล้านกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าโลกถึง 109 เท่า และมีมวลมากกว่าโลก 330,000 เท่า อีกทั้งยังเป็นมวลกว่าร้อยละ 99.86 ของมวลทั้งหมดภายในระบบสุริยะ โดยองค์ประกอบของดวงอาทิตย์ประมาณสามในสี่เป็นไฮโดรเจน ส่วนที่เหลือเป็นฮีเลียม และมีปริมาณธาตุหนักเพียงเล็กน้อย รวมทั้งออกซิเจน คาร์บอน นีออนและเหล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณคือ 1,400,000 กิโลเมตร
เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวพิณ และเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างสุดเป็นอันดับห้าในท้องฟ้ากลางคืน อีกทั้งมันยังสว่างสุดเป็นอันดับสองในซีกฟ้าเหนืออีกด้วย ซึ่งเป็นรองเพียงดาวอาร์คตุรุสเท่านั้น โดยดาวเวกายังถือได้ว่าอยู่ใกล้กับเราพอควร นั่นคือห่างไกลในระยะ 25 ปีแสงจากโลก ในอดีตดาวเวกาเคยเป็นดาวเหนือของโลกมาก่อน เมื่อราว 12,000 ปีที่แล้ว และจะกลับมาเป็นดาวเหนืออีกครั้งราว ปี ค.ศ. 13727 ซึ่งวัตถุลึกลับอย่าง โอมูอามูอา นักวิทยาศาสตร์เองก็คำนวณแล้วว่า มันอาจมีแหล่งกำเนิดมาจากระบบดาวเวกาเช่นกัน โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของมันคือ 3.8 ล้านกิโลเมตร
ดาวอาร์คตุรุสคือดาวยักษ์แดง ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ มีค่าความส่องสว่างปรากฏเท่ากับ -0.05 ถือเป็นดาวสว่างที่สุดลำดับที่ 4 บนท้องฟ้ายามราตรี รองจากดาวซิริอุสและดาวคาโนปุส แต่ก็ยังเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างสุดในซีกฟ้าเหนือ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 36.7 ปีแสง และจากการตรวจค่าแสงในย่านอินฟราเรดก็พบว่า มันมีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 170 เท่า เส้นผ่านศูนย์กลางของมันใหญ่มากถึง 36 ล้านกิโลเมตร!
ดาวไรเจล เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างสุดในกลุ่มดาวนายพราน (Orion Constellation) และสว่างสุดเป็นลำดับ 7 บนท้องฟ้า อยู่ห่างจากโลกประมาณ 863 ปีแสง โดยมีค่าความสว่างเท่ากับ 0.13 แม้ตามการจัดระดับดาวของเบเยอร์แล้ว มันจะได้รับรหัสว่า เบต้าโอไรออนก็ตาม แต่เรากลับพบว่า มันมีความสว่างมากกว่าดาวอัลฟาโอไรออน หรือ ดาวบีเทลจุส เสียอีก โดยดาวไรเจลอยู่ห่างไกลจากโลกราว 863 ปีแสง และมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่โตมโหฬารมากถึง 97 ล้านกิโลเมตร
ดาวบีเทลจุส เป็นดาวยักษ์ใหญ่แดง (Red supergiant star) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1,000 เท่า ของดวงอาทิตย์ และอยู่ไกลจากโลกราว 640 ปีแสง อีกทั้งมันยังเป็นดาวฤกษ์ดวงแรกนอกระบบสุริยะ ที่มนุษย์สามารถวัดขนาดของมันได้สำเร็จ ในปี ค.ศ 1920 และยังเป็นดาวฤกษ์ดวงแรก ที่เราสามารถถ่ายภาพมันได้จากชั้นบรรยากาศอีกด้วย แน่นอนว่าดาวไรเจลที่เราว่าใหญ่โตมโหฬารแล้ว แต่เมื่อมาเจอกับรุนใหญ่อย่างบีเทลจุสก็ถึงคราวต้องยอมสยบ เพราะมันมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่เว่อถึง 1,300 ล้านกิโลเมตร! เลยทีเดียว
หรือวีวายหมาใหญ่ มันคือดาวฤกษ์ชนิดไฮเปอร์ไจแอนท์สีแดง และตั้งอยู่บริเวณกลุ่มดาวหมาใหญ่ มีขนาดรัศมีใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 1,420 เท่า จัดได้ว่าเป็นดาวที่อยู่ห่างจากโลกค่อนข้างไกล นั่นคือในระยะ 4,900 ปีแสง อีกทั้ง วีวาย เคนิส เมเจอรีส ยังเป็นดาวฤกษ์เดี่ยว ซึ่งจะแตกต่างไปจากดาวไฮเปอร์ไจแอนท์ทั่วไป ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นระบบดาวฤกษ์คู่ โดยนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า จากการเผาไหม้เชื่อเพลิงอย่างมหาศาลของดาวนี้เอง ก็จะไปส่งผลทำให้อายุของดาวมักจะไม่ยืนยาวสักเท่าไหร่ นั่นคือ อีกประมาณ 100,000 ปีจากนี้ มันก็จะหมดอายุขัยแล้วกลายเป็น ไฮเปอร์โนวา (Hypernova) เส้นผ่านศูนย์กลางของมันคือ 2,000 ล้านกิโลเมตร
ยูวายสคูไท เป็นดาวยักษ์ใหญ่แดงในกลุ่มดาวโล่ (Scutum Constellation) และเป็นดาวแปรแสงแบบยุบขยาย (Pulsating Variables) ว่ากันว่าดาวดวงนี้คือดาวฤกษ์ดวงใหญ่ที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราอีกด้วย ซึ่งมันมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เรามากถึง 1,708 เท่า และสว่างกว่าดวงอาทิตย์ 340,000 เท่า ดังนั้นถ้าเรานำดาวยูวายสคูไทไปลงทับดวงอาทิตย์ ตรง ใจกลางของระบบสุริยะแล้วละก็ ความใหญ่ของมันจะกินพื้นที่ไปไกลถึงวงโคจรดาวพฤหัสบดีเลยทีเดียว ถึงอย่างไรก็ตามแม้รูปร่างของมันจะใหญ่โตจนสุดเหนือจินตนาการ แต่ความร้อนของมันก็ร้อนได้เพียงครึ่งเดียวของความร้อนดวงอาทิตย์เท่านั้น (อุณหภูมิพื้นผิวประมาณ 3,100 องศาเซลเซียส ในขณะที่พื้นผิวดวงอาทิตย์ของเราร้อนประมาณ 5,500 องศาเซียเซียส) เส้นผ่านศูนย์กลางของมันคือ 2,400 ล้านกิโลเมตร
หลุมดำยักษ์ภายในกาแล็กซี เอ็นจีซี 1277 คือประเภทของหลุมดำมวลยวดยิ่ง ในระดับ Supermassive black hole โดยมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 17,000 ล้านเท่า! และใหญ่โตกว่าหลุมดำที่ใจกลางกาแลกซี่ของเราถึง 4,250 เท่า (หลุมดำที่ใจกลางทางช้างเผือกมีมวลประมาณ 4 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์) โดยมวลของหลุมดำยักษ์ดวงนี้ มันใหญ่โตเอามากๆ จนสามารถคิดจำนวนมวลสารมันได้เป็นร้อยล่ะ 14 ของมวลทั้งหมดในกาแลกซี่ที่มันอาศัยอยู่เลยทีเดียว เส้นผ่านศูนย์กลางของมันคือ 60,000 ล้านกิโลเมตร
หลุมดำยักษ์ภายในเควซาร์ TON 618 คือประเภทของหลุมดำมวลยวดยิ่งในระดับ Ultramassive black hole โดยเควซาร์ (Quasar) ก็คือวัตถุที่มีแสงสว่างเจิดจ้าเป็นอย่างมาก และอยู่ห่างไกลจากโลกมากๆ ด้วยระยะทางประมาณ 10,400 ล้านปีแสง และจากการการที่มันอยู่ห่างจากโลกมากมายขนาดนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า มันอาจจะเป็นวัตถุโบราณในช่วงก่อกำเนิดห้วงอวกาศของเอกภพกันเลยทีเดียว อีกทั้งยังพบอีกว่าด้วยแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของมัน จะสามารถจนก่อให้เกิด accretion disc หรือมวลสารของก๊าซร้อนได้ไหลเวียนอยู่โดยรอบได้ ด้วยความเร็วมากถึง 7,000 กิโลเมตรต่อวินาที! และตามกฎของแรงโน้มถ่วงแล้วนักวิทยาศาสตร์ก็ประเมินว่า หลุมดำยักษ์ใน TON 618 นั้น มีมวลมากกว่าระบบสุริยะของเราถึง 66,000 ล้านเท่า! เส้นผ่านศูนย์กลางของมันคือ 400,000 ล้านกิโลเมตร
เนบิวลาตาแมวหรือรู้จักกันดีในชื่อ NGC 6543 เป็นเนบิวลาที่ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวมังกร โดยการก่อตัวของมันนับว่ามีซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่เราเคยรู้จัก ค้นพบโดย วิลเลียม เฮอร์เชล ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1786 ซึ่งจากลักษณะที่แผ่ขยายออกจากศูนย์กลางนี้เอง เราจึงจัดให้มันไปอยู่ในประเภทของ ‘เนบิวลาดาวเคราะห์’ ที่ประกอบด้วยก๊าซร้อน ของไฮโดรเจนและฮีเลียมเสียส่วนใหญ่ ปัจจุบันการศึกษาใหม่ๆได้เผยให้เห็นปริศนาหลายๆอย่าง รวมถึงโครงสร้างอันซับของมัน อย่างไรก็ตามเราก็ยังไม่มีหลักฐานที่จะบ่งชี้ได้ว่า ตรงส่วนกลางนั้นจะปรากฎให้เห็นถึงวัตถุใดๆเลย แต่คาดกันว่า ตรงใจกลางน่าจะเป็นที่อยู่ของดาวแคระขาว หรือดาวฤกษ์ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ที่หมดสิ้นอายุไปแล้วนั่นเอง ขนาดความใหญ่ของมันคือ 0.4 ปีแสงหรือประมาณ 3.78 ล้านล้าน กิโลเมตร
อันดับที่ 8: เนบิวลาเกลียว (Helix Nebula)
หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า NGC 7293 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 700 ปีแสง ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เนบิวลาเกลียวเกิดจากดาวฤกษ์ขนาดกลางที่ดับไปแล้ว ซึ่งก่อนที่มันจะตายหรือดับ ดาวดวงนั้นก็ได้เกิดระเบิดขึ้นและ ส่งให้ก๊าซต่างๆได้ไหลออกมาอยู่โดยรอบ จนเหลือไว้แต่เพียงแกนกลางทึบที่เรียกว่าดาวแคระขาว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเนบิวลาที่เราจัดไว้ให้อยู่ในประเภทของเนบิวลาดาวเคราะห์ จากลักษณะของการกระจายตัวของก๊าสที่สวยงามดังกล่าว มันจึงได้รับฉายาอีกชื่อหนึ่งว่าดวงตาของพระเจ้า (Eye of God) ขนาดความใหญ่ของมันคือ 5.74 ปีแสง หรือประมาณ 54.3 ล้านล้าน กิโลเมตร
เนบิวลานายพราน หรือ เนบิวลาโอไรออน (Orion Nebula) มีชื่อทางการว่า NGC 1976 ถือเป็นหนึ่งในเนบิวลาที่สว่างสุดและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยมันอยู่ห่างไกลจากโลกประมาณ 1,270 ปีแสง ถือได้ว่าเป็นย่านกำเนิดดาวฤกษ์มวลมากที่อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุดแล้ว เนบิวลานายพรานมีขนาดกว้างประมาณ 24 ปีแสง หรือประมาณ 227 ล้านล้าน กิโลเมตร
อันดับที่ 6: โอเมกาคนครึ่งม้า (Omega Centauri)
หรือ โอเมกา เซนทอรี มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า NGC 5139 เป็นกระจุกดาวทรงกลมขนาดมหึมา ซึ่งใหญ่โตกว่าเนบิวล่าโอไรออนในก่อนหน้านี้ถึง 7 เท่า เราจะพบเห็น โอเมกา เซนทอรี ได้จากบริเวณของกลุ่มดาวคนครึ่งม้า ค้นพบโดย เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ ในปี ค.ศ. 1677 ด้วยขนาดทรงกลมแสงของมันนี่เอง คนในสมัยก่อนจึงมีกเข้าใจผิดว่ามันคือดาวฤกษ์ดวงหนึ่งบนท้องฟ้า โดยกระจุกดาวโอเมกา เซนทอรี นั้นโคจรอยู่รอบดาราจักรทางช้างเผือกของเรา อีกทั้งมันยังเป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมจำนวนไม่มากนักที่จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ว่ากันว่ามันเป็นกระจุกดาวที่มีความเกี่ยวข้องกับกาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเรามาก ที่ทั้งใหญ่สุดและสว่างสุด โดยมันตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 15,800 ปีแสง หรือ 4,850 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงอาทิตย์ (4,850 พาร์เซก) และจากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า ณ ใจกลางของกระจุกดาวนั้นมีดาวฤกษ์อยู่หนาแน่นมาก หรือประมาณว่า ค่าเฉลี่ยระยะห่างของแต่ละดาวฤกษ์ พวกมันอยู่ห่างกันเพียงแค่ 0.1 ปีแสงเท่านั้น อายุโดยประมาณของกระจุกดาว โอเมกา เซนทอรีก็คือ 12,000 ล้านปี ซึ่งใกล้เคียงกับอายุของจักรวาลมาก ขนาดความใหญ่ของมันคือ 172 ปีแสง หรือประมาณ 1,627 ล้านล้าน กิโลเมตร
เป็นดาราจักรแคระ แห่งหนึ่งในกลุ่มท้องถิ่น ที่มีขนาดใหญ่กว่ากระจุกดาวโอเมกา เซนทอรีมากถึงประมาณ 40 เท่า และถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในดาราจักรที่มีขนาดใหญ่โตมากๆ และอยู่ใกล้กับทางช้างเผือกของเรา จนสามารถมองเห็นมันได้ด้วยตาเปล่าจากท้องฟ้า โดยมันอยู่ห่างจากกาแล็กซีของเราประมาณ 200,000 ปีแสง นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเมฆแมเจลแลนเล็ก ในอดีตเคยเป็นกาแล็กซีชนิดก้นหอยแบบมีคานมาก่อน แต่ถูกรบกวนโดยกาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเรา จนทำให้มันเสียรูปร่างไปในที่สุด อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงสามารถมองเห็นโครงสร้างรูปคานบริเวณตรงกลางของมันได้อยู่ ขนาดความใหญ่ของมันคือ 7,000 ปีแสง หรือประมาณ 66,223 ล้านล้าน กิโลเมตร
คือกาแลคซี่อันเป็นที่ตั้งของระบบสุริยะและโลกของเรา และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้า โดยลักษณที่ปรากฏของมัน จะเป็นแถบขมุกขมัวคล้ายกับเมฆของแสงสว่างสีขาว และจากการประเมินก็พบว่า ในทางช้างเผือกเราอาจมีดาวฤกษ์อยู่มากสุดถึง 4 แสนล้านดวงกันเลยทีเดียว ในขณะที่ระบบสุริยะของเราคาดว่าน่าจะอยู่ห่างไกลจากใจกลางกาแล็กซีราว 26,490 ปีแสง และตั้งอยู่ตรงขอบด้านในของแขนนายพราน (Orion Arm) เมื่อเทียบกับเส้นศูนย์สูตรฟ้า ขนาดความใหญ่ของมันคือ 105,700 ปีแสง หรือประมาณ 1 ล้านล้านล้าน กิโลเมตร
อันดับที่ 2: พื้นที่ว่างโบโอธีส (The Bootes Void)
โบโอธีส วอยด์ (Boötes void) หรือ เกรท วอยด์ (Great Void) คือหนึ่งในพื้นที่รูปทรงกลมขนาดมหึมาภายในเอกภพ ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเกือบสมบูรณ์ โดยมีเพียงไม่กี่กาแล็กซี่ที่อยู่ภายใน จากการตรวจพบก็คือมีเพียง 60 กาแล็กซี่เท่านั้น ซึ่งจากค่าเฉลี่ยโดยปกติแล้วมันควรจะมีมากถึง 2,000 กาแล็กซีเลยด้วยซ้ำแต่กลับไม่เป็นดังที่คาดไว้ โดยมันอยู่ห่างไกลจากโลกในระยะประมาณ 700 ล้านปีแสง ว่ากันว่าถ้ากาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเราได้บังเอิญหลุดไปอยู่ ณ ใจกลาง โบโอธีส วอยด์แล้วละก็ บางทีเราอาจจะคิดว่าจักรวาลของเราคงจะมีแต่เพียงทางกาแล็คซี่ช้างเผือกก็เป็นได้ ขนาดความยิ่งใหญ่ของมันคือ 330,000,000 ปีแสง หรือประมาณ 3,122 ล้านล้านล้าน กิโลเมตร
ซึ่งจากอันดับความยิ่งใหญ่ของดวงดาวดังที่ได้หยิบยกมาทั้งหมดนี้ ก็คงเทียบไม่ได้เลยกับขนาดของจักรวาลที่บรรจุพวกมันอีกที ซึ่งว่ากันว่าจักรวาลของเราถือกำเนิดจากลูกไฟอันร้อนแรงที่มีขนาดเล็กยิ่งกว่าอะตอม โดยหนึ่งในทฤษฎีที่ถูกยอมรับมากที่สุดก็คือทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang) และจากการคำนวณย้อนหลังก็พบว่า ณ ช่วงเวลาที่ 0.000000 000000 000000 000000 000000 000000 000000 1 วินาทีแรก (หรือ 10-43 seconds) จักรวาลของเราจะมีขนาดเล็กเพียง 0.000000 000000 000000 000000 000000 001 เซนติเมตร หรือประมาณ (10-33 cm) และร้อนมากถึง 100 ล้านล้านล้าน องศาเซลเซียส และขณะที่เวลาได้ล่วงเลยไปหลังจากการการระเบิดเพียง 1 วินาทีก็พบว่า จักรวาลของเราขยายใหญ่ขึ้นมาจนมีขนาดโตถึง 1,000 ล้านล้าน กิโลเมตร! โดยปัจจุบันจักรวาลของเรามีอายุได้ประมาณ 13,700 ล้านปีแล้ว และคาดกันว่าขนาดของมันในตอนนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านปีแสง แต่ทว่า ด้วยขีดความสามารถในการสำรวจจักรวาลของเรากลับวัดได้เพียง 93,000 ล้านปีแสง หรือจะพูดง่ายๆก็คือจักรวาลมันขยายตัวเร็วเสียจน เกินขอบเขตการสำรวจของเราออกไปแล้วนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น